มาต่อชั้นเหล็กฉากเองดีกว่า (2)

DIY คุณทำได้ นำเสนอผลงานการประยุกต์ใช้เหล็กฉาก ผลงานดีๆ จากทางบ้าน ครั้งนี้ขอแนะนำผลงานของ…
คุณ pa_ul แห่ง ห้องชายคา www.pantip.com
Link: http://topicstock.pantip.com/home/topicstock/2008/09/R6967193/R6967193.html
ต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

#### มาต่อชั้นเหล็กฉากเองดีกว่า (2) ####

ต่อนะครับ เรื่องสกรูน๊อต แล้วก็ความหนาเหล็กนี่มันไปเกี่ยวยังไงกับความแข็งแรงไม่โยกเยกได้ยังไงกัน ???

คืออย่างนี้ครับ ในทางวิศวกรรมแล้ว โครงสร้างที่ Rigid (รู้สึกภาษาไทยแปลว่าแกร่ง ไม่โยกเยก ถ้าไม่ใช่ขอโทษนะครับ) ต้องเป็นสามเหลี่ยมมีสามด้านครับ ถ้ามีเกินสามด้านเมื่อไหร่มันจะโยกได้ง่ายครับ ตัวอย่างเช่นโครงสะพานเหล็ก อย่างสะพานพุทธฯ สะพานพระรามหก หรือโครงหลังคาที่เรียกว่าโครงทรัสต์ นั่นแหละครับ ดูดีๆ จะเห็นว่าไม่มีตรงไหนเป็นสี่เหลี่ยม ทุกช่องจะถูกออกแบบเป็นสามเหลี่ยมทั้งหมดครับ ทำให้มีความแข็งแรงครับ

แล้วไอ้ชั้นเหล็กราคาถูกๆ ที่เรากำลังล้อมวงทำกันอยู่นี่มันเป็นสี่เหลี่ยมใช่มั้ยครับ มันก็โยกง่ายสิครับ ก็ต้องแก้โดยการสร้างสามเหลี่ยมไปค้ำยันมันไม่ให้โยกครับ ทำได้ยังไงบ้าง…. ก็เช่นอาจจะเอาเหล็กมาเสริมทแยงด้านหลัง ด้านข้างก็ได้ครับ ถ้ามีเหล็กเหมาะๆ วิธีนี้ก็แจ๋วเลยครับ

อย่างในรูป ถ้าใส่เสริมตรงเส้นสีเขียว อย่างนี้ก็ใช้ได้เลยครับ แต่ปัญหาคือมันเปลืองเหล็ก ใครจะลองวิธีนี้ก็ได้นะครับ รับรองแข็งแรงแน่นหนา ไม่โยกเยกครับ

ทีนี้การใส่เหล็กฉากประกับเข้าไปนี่ก็คล้ายๆ กับการสร้างสามเหลียมขึ้นมาแหละครับ แต่เป็นสามเหลี่ยมเล็ก รับแรงได้ไม่มาก แต่ก็เพียงพอสำหรับชั้นวางของที่เรากำลังล้อมวงทำกันอยู่ครับ แต่เงื่อนไขคือตัวสกรูน๊อตที่ใช้ยึดนั้นต้องแน่หนานะครับ ถ้าสกรูในตำแหน่ง 1,2,3 ตัวใดตัวหนึ่งไม่แน่น โครงสร้างสามเหลี่ยมที่เราต้องการก็ไม่เกิดขึ้น ความแข็งแรงที่ต้องการก็ไม่เกิดขึ้นครับ

มาดูในรายละเอียดกันดีๆ นะครับ รูปนี้แสดงให้เห็นด้านในของบริเวณที่เราเพิ่มเหล็กประกับเข้าไปนะครับ จะเห็นว่าสกรูหมายเลข 1 กับสามจะยึดเหล็กฉากกับเหล็กประกับอย่างละ 1 ชั้นเข้าด้วยกัน ส่วนสกรูหมายเลข 2 จะมีชั้นเหล็กฉากเพิ่มเป็น 2 ชั้น

แล้วมาดูรายละเอียดที่สกรูที่ใช้กัน มันมีบ่าให้เพื่อให้ล๊อคเข้ากับร่องของเหล็กฉาก เพื่อที่เวลาขันจะได้อยู่กับที่ไม่หมุนตามแรงบิดไป ไอ้บ่าเหลี่ยมๆ นี่แหละครับ ที่เป็นตัวปัญหา ถ้าความหนาของบ่าน้อยกว่าความหนาของชิ้นงานที่เราเอามายึดติดกัน เราก็จะสามารถขันให้มันแน่นได้ แต่ถ้ามันหนามากกว่า เราขันยังไงมันก็ไม่แน่สิครับ สกรูกับน๊อตมันแน่น แต่ไม่ได้ช่วยยึดชิ้นงานของเราให้แน่นเลยครับ

ดูภาพด้านข้างที่ผมพยายามถ่ายให้ใกล้ที่สุดเท่าที่กล้องห่วยๆ ของผมทำได้นะครับ ในรูปผมใช้เหล็กฉากอย่างบาง แล้วก็เหล็กประกับอย่างบางมาประกอบให้เห็น จะเห็นว่ามีช่องว่างตรงที่ลูกศรชี้ครับ ส่วนสกรูตัวกลางไม่มีปัญหาครับ เพราะมีเหล็กฉากสองชั้น ก็เลยหนากว่าบ่าตัวสกรู ก็เท่ากับว่าสกรูสองตัวที่ว่านี้ไม่ได้ช่วยให้เกิดความแข็งแรงของสามเหลี่ยมอย่างที่เราต้องการเลยสิครับ ถ้าเปลี่ยนเหล็กให้หนาขึ้น ให้มากกว่าความหนาของบ่าสกรู ก็จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ครับ นี่เป็นเหตุผลที่ผมให้ซื้อเหล็กอย่างหนา ทั้งเหล็กฉากและเหล็กประกับครับ

ไอ้น๊อตกับสกรูที่ผมซื้อมาปรากฏว่ามีสองเวอร์ชั่นซะอีกครับ คือเวอร์ชั่นแรกบ่ามันหนาน้อยกว่าอีกเวอร์ชั่นนึงครับ ใช้กับเหล็กฉากหนาได้พอดีครับ แต่ใช้กับเหล็กฉากบางก็ยังหนาเกินไปครับ

ส่วนเวอร์ชั่นที่สองนอกจากจะมีบ่าหนากว่าแล้ว เกลียวบนตัวสกรูก็ยังทำมาสุดบ้าง ไม่สุดบ้าง เป็นที่อิดหนาระอาใจในการใช้งานมากครับ ถ้าเกลียวเข้าไปสุดจนชนบ่าก็ยังดี บางตัวเกลียวเข้าไม่สุด พอขันเข้าไปก็ไม่สุดสิครับ ก็ออกแรงเพิ่มจนเกลียวมันรูดล๊อคติดกัน กว่าจะเอาออกได้นี่ก็เหงื่อตก ตอนหลังก็เลยต้องสังเกตให้ดีก่อนเอามาใส่ ตัวที่เกลียวไม่สุดแยกเอาไปใส่เฉพาะตรงที่เป็นเหล็กฉากสองชั้นครับ

ตอนประกอบจริงคงไม่ต้องมานั่งเล็งให้ตาเหล่อย่างในภาพข้างบนเพื่อดูว่ามันแน่หรือไม่แน่นหรอกครับ ให้ทำอย่างนี้จะง่ายกว่าครับ คือขันน๊อตเข้าไปให้แค่พอชนก็หยุด แล้วลองจับมันขยับๆ ดูว่ามันคลอนๆ รึเปล่า ถ้าคลอนก็แสดงว่ามันชนบ่าสกรูซะแล้ว อย่างนี้ความหนาไม่ได้ครับ ออกแรงเพิ่มไปก็เสียเปล่า เผลอๆ เกลียวรูดไปก็ยุ่งเลยครับ แน่นก็ไม่แน่น ต้องหาทางเอามันออกอีก

แล้วถ้าเผื่อว่าบ่าสกรูมันหนากว่า ก็ยังพอมีทางแก้ครับ ให้หาซื้อแหวนอีแปะมารองให้มันพ้นความหนาของบ่าสกรูอย่างในรูปครับ ขนาดของแหวนอีแปะนั้นรูตรงกลางต้องใหญ่กว่าเส้นทแยงมุมของบ่าสกรูนะครับ ไม่งั้นตัวแหวนอีแปะมันก็จะชนบ่าครับ

มาถึงตรงนี้ก็คงทราบวิธีการทำให้มันแข็งแรงแน่นหนากันแล้วนะครับ ก็ลงมือลุยกันได้เลยครับ ใครจะต่อกว้างยาวลึกแค่ไหนก็ตามสะดวกเลยครับ ถ้าขนาดมันสูง แนะนำให้เสริมเหล็กประกับเข้าไปอีกครับ แทนที่จะใช้ด้านละสี่ตัว ก็อาจจะด้านละหกตัวก็ได้ครับ เพื่มเงินอีกนิดหน่อย แต่ได้ความแข็งแรงกลับมาอีกมากครับ

อย่างที่แนะไป ให้เริ่มประกอบด้านในให้มันตั้งขึ้นมาได้คร่าวๆ ก่อน ยังไม่ต้องกวดน๊อตให้แน่น ใช้ตัววัดระดับ วัดแนวดิ่งของแต่ละขา ขานึงให้วัดสองด้านที่ตั้งฉากกัน แล้วค่อยกวดน๊อตให้แน่น พอได้โครงแล้ว อย่าเพิ่งใส่เหล็กขวางที่เหลือทันที ให้ใช้ตลับเมตรวัดความกว้างด้านบน กับด้านล่างเทียบกับ มันควรจะใกล้เคียงกัน ถ้าไม่ได้ ก็คลายน๊อตมาขยับๆ หรือใช้ค้อนยาง หรือด้ามค้อนไม้ เคาะๆ แล้ววัดดิ่งใหม่ จนแน่ใจแล้วถึงค่อยใส่เหล็กที่เหลือเข้าไปตามตำแหน่งครับ

ผมเองใช้เครื่องทุ่นแรงนิดหน่อยอย่างในรูปครับ เห็นเส้นแสงสีแดงๆ มั้ยครับ ไม่ใช่ภาพเสียนะครับ เส้นแสงนั้นมาจากเครื่องดำๆ ที่เห็นข้างหน้าครับ เพื่ออ้างอิงแนวดิ่งครับ

รูปที่เห็นนี้เป็นบริเวณมุมซ้ายบน จะเห็นว่ามีเหล็กประกับเสริมทั้งด้านหน้า และด้านข้างครับ ลืมใส่สกรูไปตัวนึงครับ แต่ถึงไม่ใส่มันก็แข็งแรง ไม่โยกโย้ครับ

ถึงแม้ว่าจะทำอย่างแข็งแรงแล้วก็ตาม สำหรับคนที่คิดจะต่อชั้นที่สูงมาก เช่นสูงชนเพดาน เพื่อความไม่ประมาทแนะนำให้เจาะพุกยึดด้านบนเข้ากับกำแพง เพิ่มความปลอดภัยด้วยครับ เผื่อว่ามีเด็กๆ ไปปีนป่ายเล่น หรือปีนๆ เก็บของอยู่ แล้วพลาดไปโหนมัน จะได้ไม่ล้มลงมาครับ เหล็กฉากตั้งเส้นนึงยึดไว้ซักตัวสองตัวก็พอแล้วครับ

อีกอย่างนึงเพิ่งนึกได้ครับ ตอนที่ประกอบเหล็กประกับเข้าไป แล้วทดสอบดูว่าสกรูใช้งานได้หรือไม่อย่างที่บอกไปในคห. 28-33 นั้น บางทีตัวเหล็กประกับมันปั๊มมาแล้วมีขอบคมๆ ไปยันกับเหล็กฉากเอาไว้ พอขันน๊อตเข้าไปแล้ว…..ดูเหมือน……จะแน่น แต่มันไม่แน่นครับ ที่ผมทำผมลงทุนตะไบขอบที่คมๆ ทิ้งไปครับ ซึ่งนอกจากจะไม่โดนมันหลอกแล้ว เวลาเราเผลอไปโดนมันเข้าตอนที่เราหยิบของ ก็จะได้ไม่บาดเราเเป็นแผลครับ

จบแล้วครับ…

มาต่อชั้นเหล็กฉากเองดีกว่า (1)

มาต่อชั้นเหล็กฉากเองดีกว่า (1)

DIY คุณทำได้ นำเสนอผลงานการประยุกต์ใช้เหล็กฉาก ผลงานดีๆ จากทางบ้าน ครั้งนี้ขอแนะนำผลงานของ…
คุณ pa_ul แห่ง ห้องชายคา www.pantip.com
Link: http://topicstock.pantip.com/home/topicstock/2008/09/R6967193/R6967193.html
ต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

#### มาต่อชั้นเหล็กฉากเองดีกว่า (1) ####

เห็นมีหลายๆ ท่านในชายคานี้มาสาธิตการต่อชั้นเหล็กให้ดูชมแล้วนะครับ ดูแล้วง๊าย…..ง่ายนะครับ จะไปยากอะไร ก็แค่ไปสั่งตัดเหล็กให้ได้ตามขนาด แล้วก็ซื้อสกรูกับน๊อตกับเหล็กประกับมาพร้อมกัน แล้วก็ลงมือขันๆๆๆๆ ก็ได้ชั้นเหล็กมาใช้งานแล้ว ใช่มั้ยครับ

แล้วผมนี่จะมาแนะนำอะไรตรงนี้ดีหละครับ รู้ๆ กันอยู่หมดแล้ว แต่มีใครมั้ยครับ ที่ต่อชั้นจริงๆ แล้วปรากฎว่ามันโยกเยกไม่แข็งแรงครับ  ใครชนเข้าหน่อยมันก็โย้ไปเย้มา เราก็ว่าเราขันสกรูแน่นหนาจนแทบจะเอาไม่ออกแล้วนะ ทำไมมันโยกโย้เย้จังเลย บางคนก็อาศัยว่าวางของหนักๆ หน่อย ก็ทำให้…รู้สึก….แน่นหนาขึ้น แต่มันไม่ได้แน่นหนาจริงสิครับ เพียงแค่มันไม่พังครีนลงมาต่อหน้าต่อตาเท่านั้นเองครับ

มา…มาดูกันดีกว่าครับ ว่าทำไงให้มันแน่นหนาอย่างที่ควรจะเป็น เผื่อต้องการต่อให้มันชนฝ้าเพดาน จะได้ไม่ต้องมาห่วงว่ามันจะล้มมาทับ หรือพังครืนลงมานะครับ

ขั้นตอนหลักๆ ก็คงเหมือนท่านอื่นๆ ที่เคยมาแสดงวิธีการนะครับ ก็คือ

ร่างแบบคร่าวๆ เพื่อกำหนดขนาดความยาวของเหล็กฉากแต่ละชิ้น เหล็กฉากมันยาวสามเมตรนะครับ กำหนดให้ลงตัวจะได้ไม่เสียเศษครับ

ได้ขนาดแต่ละชิ้นแล้วก็เอาไปซื้อที่ร้าน ให้ร้านตัดมาให้ตามขนาดที่ต้องการนะครับ

ซื้อสกรู และน๊อตติดมาตามจำนวนที่ต้องการใช้ ถ้านับตัวก็แพงหน่อย ถ้าซื้อเป็นถุง (ถุงละ 50 ตัว) ก็ถูกลงครับ

ซื้อแผ่นเหล็กประกับ หรือเหล็กฉากเข้ามุมมาด้วย เอามามากหน่อยครับ เหล็กอันนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของชั้นไม่ให้โยกเยกครับ บอกที่ร้านว่าขอซื้ออย่างหนา (ถ้ามี) นะครับ ไม่เอาอย่างบาง

แล้วก็ซื้อประแจเบอร์ 10 มาตัวนึง พร้อมกับยางรองขาเหล็กฉากกันไม่ให้มันขูดพื้นครับ เอาถุงมือผ้ามาด้วยซักคู่ก็ดีครับ จะได้ไม่เจ็บมือเวลาไขสกรูไปเยอะๆ และก็ช่วยป้องกันเผื่อพลาดไปโดนคมมุมเหล็กเข้าโดยไม่เจตนา จะได้ไม่เป็นแผลใหญ่นักครับ

มาดูรูปชั้นวางของที่ผมทำใช้ที่บ้านนะครับ หน้าตาอย่างนี้ครับ

ในรูปมันดูโค้งๆ เพราะกล้องถ่ายรูปตั้งเป็นมุมกว้างนะครับ ห้องมันแคบครับ พอเปิดออกมาก็เป็นอย่างนี้ครับ

ตอนซื้อเหล็กให้ซื้ออย่างหนาครับ (1.8mm) บอกที่ร้านว่าเอาเหล็กอย่างหนาเต็มนะครับ อันนี้ไม่ใช่แค่ว่ามันแข็งแรงกว่านะครับ แต่มุมและฉากมันจะเที่ยงตรงกว่าด้วยครับ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำไปวางของหนักๆ ก็สมควรใช้อย่างหนาครับ

ในรูปที่เห็น ยี่ห้อบนเป็นเหล็กบาง ส่วนยี่ห้อล่างเป็นเหล็กหนาครับ

อีกอย่างที่ผมสังเกตเห็นก็คือว่า สันของเหล็กฉากยี่ห้ออันบนผลิตมาไม่ดีครับ มันเป็นคมครับ เวลาใช้งานตอนเอาของเข้าออกแล้วพลาดไปโดน มันขูดโดนหนังผมถลอกไปหลายทีแล้วครับ แต่ยี่ห้ออันล่างนี่ไม่คมครับ

ได้ของครบแล้วก็วางแผนว่าจะประกอบอันไหนก่อนหลัง ถ้าชั้นขนาดเล็กนี่คงไม่มีปัญหาว่าจะประกอบชิ้นไหนก่อนหลัง แต่ถ้าชั้นที่ค่อนข้างสูง หรือประกอบในพื้นที่จำกัดนี่ต้องวางแผนหน่อยครับ ไม่งั้นทำงานลำบากครับ

แนะนำให้ประกอบเสาด้านซ้ายขวาสี่ต้น(สำหรับชั้นช่วงเดียว) กับตัวเหล็กขวางเฉพาะด้านในที่อยู่ติดผนัง กับเหล็กขวางด้านข้างก่อนครับ อย่างเส้นสีแดงในรูปนะครับ ส่วนเหล็กที่สีน้ำเงินไว้ทีหลังครับ

ส่วนจะใส่ตรงชั้นไหนก่อน แนะนำให้ใส่ตำแหน่งชั้นบนสุดกับล่างสุดก่อนครับ

คราวนี้ก็มาถึงความสำคัญของเหล็กเข้ามุม กับความหนาของเหล็กฉากที่เลือกใช้หละครับ ว่าชั้นประกอบเสร็จแล้วจะโยกเยกหรือไม่

ในการประกอบให้ใส่เหล็กประกับเข้ามุมตรงมุมที่อยู่บนสุด ล่างสุด ซ้ายสุด และขวาสุดของทุกๆ ด้านครับ การใส่เหล็กชิ้นนี้บางคนก็ประกบด้านนอกทั้งแผ่นเลย แต่ผมชอบที่จะสอดไว้ระหว่างชิ้นของเหล็กฉากอย่างในรูปครับ เหล็กจะได้ไม่งอ ดูสวยงามครับ

มีข้อที่ต้องคิดให้เรียบร้อยก่อนที่จะลงมือประกอบจริงอยู่สองสามเรื่องครับ

เรื่องแรกคือว่าเหล็กขวางนี่จะหันสันขึ้นหรือลง ถ้าหันขึ้นเวลาวางแผ่นไม้ชั้นเข้าไปจะวางยากหน่อย เพราะจะติดหัวสกรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแผ่นไม้ตัดมาค่อนข้างขนาดเป๊ะๆ และเป็นไม้ชิ้น งอไม่สะดวก บางทีอาจจะต้องวางแผ่นไม้ชั้นลงไปก่อนใส่สกรูครับ ซึ่งจะทำงานค่อนข้างลำบากครับ

ประโยชน์ของการหันสันขึ้นก็คือมันจะเป็นขอบกันของตกได้ครับ ถ้าวางของชิ้นเล็กๆ แล้วอาจจะกลิ้งตกลงมาได้ วางหันขึ้นอย่างนี้คงจะเหมาะครับ

แต่ในขณะเดียวกันมันก็เกะกะถ้าของที่วางมีขนาดลึกกว่าความลึกของชั้น เช่นพวกกล่องใหญ่ๆ และถ้าเป็นเหล็กฉากที่สันเป็นคมอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้แล้วหละก็ ตอนเผลอๆ คุณก็จะโดนไอ้สันคมๆ นั่นแหละขูดเอาอยู่เรื่อยๆ ครับ

ถ้าหันสันลง ก็กลับกับข้างบนครับ แล้วเหล็กฉากตัวขวางมันยังสามารถใช้ประโยชน์ในการห้อยแขวงอะไรกระจุกกระจิกได้ด้วยครับ แต่มันก็ไปทำให้เสียเนื้อที่ทางสูงของแต่ละชั้นไปนิดหน่อยด้วยครับ

เรื่องที่สองก็คือว่าเหล็กขวางตัวที่อยู่ซ้ายขวา กับตัวที่อยู่หน้าหลัง ตัวไหนควรอยู่ทับบนตัวไหน อันนี้ผมมักให้ตัวที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลัง อยู่ทับบนตัวซ้ายขวาครับ เพราะเวลาวางแผ่นไม้ชั้นแล้วมันเรียบเสมอกับเหล็ก ถ้ามันอยู่ล่าง แผ่นไม้ด้านซ้ายขวาจะเผยอขึ้นเล็กน้อยครับ ผมเป็นคนขี้รำคาญครับ

อีกเรื่องจะเป็นกรณีที่ต้องการต่อชั้นมากกว่าหนึ่งช่วง ปัญหาอยู่ตรงเสาที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองช่วงครับ ถ้าต่อชั้นสองช่วงโดยทำเป็นชั้นสองตัววางซ้ายขวาชนกัน อย่างนี้ทำงานง่ายครับ แต่เปลืองเหล็กเสากลางเพิ่มขึ้นครับ รวมถึงสกรูน๊อตอีกนิดหน่อยด้วยครับ แต่ก็ทำให้ประกอบได้สะดวก และถ้าจะโยกย้ายเคลื่อนไปไหนก็จัดการได้ง่ายกว่าครับ

แต่ถ้าจะประหยัดก็ใช้เสาต้นเดียวตรงกลาง อย่างชั้นที่ผมเอารูปมาลง อันนี้ประกอบยุ่งยากหน่อยครับ เดี๋ยวจะเอารูปเฉพาะตรงเสากลางมาให้ดูครับ มันถูกบานประตูบังอยู่ครับ

รูปนี้ครับ ถ่ายรูปมุมเฉียงมากไปหน่อยครับแต่ก็เห็นชัดเจนว่าใช้เหล็กประกับตัวนึงมาเสริมเพื่อรับเหล็กฉากตัวขวางครับ ผมจึงแนะนำให้ใช้เหล็กประกับอย่างหนาครับ หรือถ้าร้านที่ขายไม่มีอย่างหนา ก็ใช้อย่างบางมาซ้อนกันสองหรือสามแผ่นครับ แข็งแรงเหลือเฟือครับ

แต่การมีเสาเดียวนั้น จะต้องประกอบเหล็กขวางตัวที่อยู่ด้านข้างทั้งสองตัวไปพร้อมกันในคราวเดียว ก็ยุ่งยากนิดหน่อยครับ รูปไม่ค่อยชัดนะครับ

เอาหละครับ คิดออกกันรึยังครับว่าจะเอายังไง เสาเดียวสองเสา หันขึ้นหันลง ทับบนทับล่าง คิดออกแล้ว ของก็ซื้อมาพร้อมแล้ว คงอยากจะเริ่มลงมือประกอบแล้วใช่มั้ยครับ

แต่…เดี๋ยวก่อนครับ อย่างเพิ่งครับ มีเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ต้องพิจารณาครับ ก็คือไอ้ตัวสกรูกับน๊อต แล้วก็ความหนาของเหล็กประกับ และเหล็กฉากที่ใช้นี่แหละครับ มันมีส่วนอย่างมากว่ามันจะทำให้ชั้นที่ประกอบขึ้นมานั้นแข็งแรงไม่โยกเยกคลอนแคลนเป็นกระท่อมพังๆ ได้ยังไงกัน เดี๋ยวมาดูกันครับ ตอนนี้ขอพักครึ่งเวลาก่อนครับ ผู้ชมทุกท่านจะอาบน้ำอาบท่า ทานข้าวปลาก็ตามสะดวกนะครับ อีกสองชั่วยามจะกลับมาเปิดโรงภาคสองครับ

มาต่อชั้นเหล็กฉากเองดีกว่า (2)

ประเภทของเหล็กกล้า

          เหล็กกล้าเป็นเหล็กที่ถูกนำไปใช้ในงานต่างๆ มากมาย ทั้งนี้เนื่องจากเหล็กกล้านั้น มีคุณสมบัติในการรับแรงต่างๆได้ดี เช่น แรงกระแทก (Impact Strength) แรงดึง (Tensile Strength) แรงอัด (Compressive Strength) และ แรงเฉือน (Shear Strength) ซึ่งธาตุผสมส่วนใหญ่จะเป็นทั้งโลหะและอโลหะ เช่น โมลิบดินั่ม ทังสเตน วาเนเดียม เป็นต้น โดยเหล็กกล้าสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้

เหล็กกล้าคาร์บอน (Carbon steels)
          หมายถึง เหล็กกล้าที่มีส่วนผสมของธาตุคาร์บอนเป็นธาตุหลักที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อคุณสมบัติทางกลของเหล็ก และยังมีธาตุอื่นผสมอยู่อีก ซึ่งแบ่งเหล็กกล้าคาร์บอนออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. เหล็กกล้าคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Steel) เป็นเหล็กที่มีปริมาณคาร์บอนไม่เกิน 0.25% นอกจากคาร์บอนแล้ว ยังมีธาตุอื่นผสม- อยู่ด้วย เช่น แมงกานีส ซิลิคอน ฟอสฟอรัส และกำมะถัน แต่มีปริมาณน้อยเนื่องจาก หลงเหลือมาจากกระบวนการผลิต เหล็กประเภทนี้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรม และใน ชีวิตประจำวันไม่ต่ำกว่า 90% เนื่องจากขึ้นรูปง่าย เชื่อมง่าย และราคาไม่แพง โดยเฉพาะเหล็กแผ่นมีการนำมาใช้งานอย่างกว้างขวาง เช่น ตัวถังรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ กระป๋องบรรจุอาหาร สังกะสีมุงหลังคา เครื่องใช้ในครัวเรือน และในสำนักงาน
  2. เหล็กกล้าคาร์บอนปานกลาง (Medium Carbon Steel) เป็นเหล็กที่มีปริมาณคาร์บอน 0.2-0.5% มีความแข็งแรงและความเค้นแรงดึงมากกว่า เหล็กกล้าคาร์บอนต่ำ แต่จะมีความเหนียวน้อยกว่า สามารถนำไปชุบแข็งได้ เหมาะกับ งานทำชิ้นส่วนเครื่องจักรกล รางรถไฟ เฟือง ก้านสูบ ท่อเหล็ก ไขควง เป็นต้น
  3. เหล็กกล้าคาร์บอนสูง (High Carbon Steel) เป็นเหล็กที่มีปริมาณคาร์บอน 0.5 – 1.5% มีความแข็งความแข็งแรงและความเค้น- แรงดึงสูง เมื่อชุบแข็งแล้วจะเปราะ เหมาะสำหรับงานที่ทนต่อการสึกหรอ ใช้ในการทำ เครื่องมือ สปริงแหนบ ลูกปืน เป็นต้น

เหล็กกล้าประสม (Alloys Steel)
          หมายถึง เหล็กที่มีธาตุอื่นนอกจากคาร์บอน ผสมอยู่ในเหล็ก ธาตุบางชนิดที่ผสมอยู่ อาจมีปริมาณมากกว่าคาร์บอน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักในเหล็กก็ได้ธาตุที่ผสม ลงไปได้แก่ โมลิบดินั่ม แมงกานีส ซิลิคอน โครเมียม อลูมิเนียม นิกเกิล และวาเนเดียม เป็นต้นจุดประสงค์ที่ต้องเพิ่มธาตุต่างๆเข้าไปในเนื้อเหล็ก ก็เพื่อการทำให้คุณสมบัติของเหล็ก เปลี่ยนไปนั่นเองที่สำคัญก็คือ

  1. เพิ่มความแข็ง
  2. เพิ่มความแข็งแรงที่อุณหภูมิปกติและอุณหภูมิสูง
  3. เพิ่มคุณสมบัติทางฟิสิกส์
  4. เพิ่มความต้านทานการสึกหรอ
  5. เพิ่มความต้านทานการกัดกร่อน
  6. เพิ่มคุณสมบัติทางแม่เหล็ก
  7. เพิ่มความเหนียวแน่นทนต่อแรงกระแทก

เหล็กกล้าประสม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. เหล็กกล้าประสมต่ำ (Low Alloy Steels) เป็นเหล็กกล้าที่มีธาตุประสมรวมกันน้อยกว่า 8% ธาตุที่ผสมอยู่คือ โครเมี่ยม นิกเกิล โมลิบดินั่ม และแมงกานีส ปริมาณของธาตุที่ใช้ผสมแต่ละตัวจะไม่มากประมาณ 1 – 2% ผลจากการผสมทำให้เหล็กสามารถชุบแข็งได้ มีความแข็งแรงสูง เหมาะสำหรับใช้ในการทำชิ้นส่วนเครื่องจักรกล เช่น เฟือง เพลาข้อเหวี่ยง จนบางครั้งมีชื่อว่าเหล็กกล้า เครื่องจักรกล (Machine Steels) เหล็กกล้ากลุ่มนี้จะต้องใช้งานในสภาพชุบแข็งและอบก่อนเสมอจึงจะมีค่าความแข็งแรงสูง
  2. เหล็กกล้าประสมสูง (High alloy steels) เหล็กกล้าประเภทนี้จะถูกปรับปรุงคุณสมบัติ สำหรับการใช้งานเฉพาะอย่าง ซึ่งก็จะมี ธาตุประสมรวมกันมากกว่า 8% เช่น เหล็กกล้าทนความร้อน เหล็กกล้าทนการเสียดสี และเหล็กกล้าทนการกัดกร่อน

เหล็กแผ่นรีดร้อนคืออะไร

         เหล็กแผ่นรีดร้อน คือการนำเหล็กกล้าที่มีรูปทรงเป็นแท่งแบน (Slab) มาผ่านกระบวนการรีดร้อนลดขนาดที่อุณหภูมิประมาณ 1,100-1,250 องศาเซลเซียส ด้วยลูกกลิ้งหรือแท่นรีดขนาดใหญ่รีดให้เป็นแผ่นที่มีความหนาบางลงตามที่ต้องการ จากนั้นจึงทำให้เย็นลงโดยการผ่านน้ำหล่อเย็น แล้วเข้าสู่เครื่องม้วน เมื่อผลิตเสร็จเหล็กแผ่นรีดร้อนที่ได้จะมีผิวสีเทาดำและอยู่ในลักษณะเป็นม้วน (coil) เรียกว่า “เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (hot-rolled coil)” หรือ “เหล็กม้วนดำ (black coil)” เพื่อสะดวกการเก็บรักษา ขนส่งเคลื่อนย้าย และสะดวกในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นต่อไป เช่น

  • รีดเย็นต่อเป็นเหล็กแผ่นรีดเย็น เพื่อใช้ในงานที่ต้องการคุณภาพผิวสูงกว่าและความหนาต่ำกว่าเหล็กแผ่นรีดร้อน
  • กัดล้างผิวและเคลือบน้ำมัน เป็นเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดกัดล้างผิวและเคลือบน้ำมัน (pickled and oiled hot-rolled steel) จะได้เหล็กแผ่นรีดร้อนผิวด้านสีขาวเทา
  • แปรรูป เป็นเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลักษณะต่างๆ เช่น เหล็กฉาก (รูป L) ท่อ (ทรงกระบอก) รางน้ำ (U) เป็นต้น สำหรับใช้ในการก่อสร้าง งานวิศวกรรมโยธา และงานโครงสร้างต่างๆ
  • ตัดเป็นแผ่นหรือเป็นท่อน สำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรม งานก่อสร้าง หรืองานช่างทั่วไป
  • ผลิตถังก๊าซ ถังคอมเพรสเซอร์ (ระบบทำความเย็น) ถังแรงดัน ผลิตท่อก๊าซ ท่อน้ำมันและปิโตรเคมี
  • ใช้ขึ้นรูปชิ้นส่วนช่วงล่างรถยนต์ที่ต้องการความแข็งแรง

การเลือกซื้อเหล็กแผ่นรีดร้อน
          เหล็กแผ่นรีดร้อน ถือว่าเป็นสินค้าพื้นฐานที่เป็นเหมือนกลไกสำคัญในการตอบสนองการ เติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ฯลฯ โดยในการ เลือกซื้อเหล็กแผ่นรีดร้อนเพื่อ นำมาใช้งาน ในแต่ละครั้งนั้น ผู้ซื้อควรพิจารณาถึงปัจจัย ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดังนี้

  1. การนำไปใช้งาน ในการเลือกเหล็กแผ่นรีดร้อนควรคำนึงถึงการนำไปใช้งาน เพราะเหล็กแผ่นรีดร้อนแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันในเรื่องค่าเคมีและองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อการนำไปใช้ในสภาวะที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น หากต้องการนำเหล็กแผ่นรีดร้อนมาใช้ต่อเรือในส่วนที่ต้องรับแรงสูงและทนต่อแรงกระแทก ควรเลือกเหล็กแผ่นรีดร้อนเกรดพิเศษที่ใช้ในการต่อเรือโดยเฉพาะ ดังนั้นควรเลือกเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีมาตรฐานเหล็กเป็น ABS GrAH หรือ ABS GrDH ขึ้นอยู่กับสภาพที่นำไปใช้งานเช่นอุณหภูมิหรือการรับแรง เป็นต้น
  2. ขนาดของเหล็กแผ่นรีดร้อน เพื่อให้การนำเหล็กแผ่นรีดร้อนไปใช้งานให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด ควรพิจารณาถึงขนาดเหล็กรีดร้อนที่ต้องใช้ให้มีความเหมาะสมกับงานนั้นๆ เพราะหากเลือกซื้อเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีขนาดใหญ่เกินความต้องการใช้จริงก็จะก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นเศษเหล็ก หรือหากเลือกเหล็กแผ่นรีดร้อนขนาดเล็กเกินไปก็จะเกิดความสูญเสียในเรื่องของการเชื่อมต่อและเวลาที่ต้องสูญเสียมากขึ้น รวมถึงความแข็งแรงที่ลดลงจากการเชื่อมต่อ
  3. คุณภาพ ควรพิจารณาถึงคุณภาพของเหล็กแผ่นรีดร้อน โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานเหล็กระดับสากลรองรับ เช่น มาตรฐานเหล็ก ASTM, DIN, JIS, EN, Lloyd’s, ABS, AS หรือ API เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้งานว่าจะได้รับชิ้นงานที่มีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ซื้อว่าเหล็กแผ่นรีดร้อนทุกแผ่นมีคุณภาพเป็นไปตามที่ผู้ซื้อต้องการ
  4. ความสะดวกในการสั่งซื้อและการส่งมอบ นอกจากปัจจัย 3 ข้อ ดังข้างต้นแล้ว ควรพิจารณาเรื่องความสะดวกในการสั่งซื้อ โดยเลือกซื้อเหล็กแผ่นรีดร้อนจากผู้ผลิตในประเทศ เพื่อประหยัดเวลาในการติดต่อสั่งซื้อสินค้า นอกจากนี้ยังทำให้การส่งมอบสะดวกรวดเร็วมากกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเหล็ก

          เหล็กเป็นวัสดุพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาสังคมและความเป็นอยู่ของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คำว่า “เหล็ก” ที่เรียกกันทั่วไปนั้น เป็นคำที่ใช้เรียกเหมารวมถึง เหล็ก (iron) และ เหล็กกล้า (steel) ซึ่งในความเป็นจริงนั้นวัสดุทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างกันหลายประการ

เหล็ก (iron)
          เหล็กมีสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์คือ Fe ซึ่งย่อมาจาก Ferrum ในภาษาละติน เหล็กเป็นแร่ธาตุโลหะชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ มีสีแดงอมน้ำตาล แม่เหล็กสามารถดูดติดได้ พบมากในชั้นหินใต้ดินบริเวณที่ราบสูงและภูเขา อยู่ในรูปก้อนสินแร่เหล็ก (iron ore) ปะปนกับโลหะชนิดอื่นๆ และหิน เมื่อนำมาใช้ประโยชน์จะต้องผ่านการทำให้บริสุทธิ์ด้วยกรรมวิธีการ “ถลุง” โดยใช้ความร้อนสูงถึง 3000 °F หรือประมาณ 1649 °C เผาให้สินแร่เหล็กหลอมละลายกลายเป็นของเหลว และแยกแร่อื่นที่ไม่ต้องการออกไป ก่อนนำโลหะนั้นไปเทลงแบบหล่อเหล็ก เพื่อให้ได้เป็นเหล็กออกมา

เหล็กกล้า (steel)
          ปกติเหล็กที่ได้จากเตาถลุงจะมีความเปราะและไม่เหมาะที่จะนำไปใช้ประโยชน์ จึงต้องนำมาผ่านกระบวนการเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของเหล็กให้ดีขึ้น ดังนั้น เหล็กกล้า จึงเป็นโลหะที่ไม่ได้มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ถูกผลิตขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติโดยรวมของเหล็กให้ดีขึ้นและให้เหมาะสมต่อสภาพการใช้งาน เช่น  ให้แข็งแรงสามารถรับน้ำหนักได้มาก ทนทานต่อแรงกระแทกหรือสภาวะทางธรรมชาติ มีความยืดหยุ่นดี ไม่ฉีกขาดหรือแตกหักง่าย เป็นต้น คำว่า “เหล็กกล้า” โดยทั่วไปจะหมายถึง “เหล็กกล้าคาร์บอน (carbon steel)” ซึ่งประกอบด้วยธาตุหลักๆ คือ เหล็ก (Fe) คาร์บอน (C) แมงกานีส (Mn) ซิลิคอน (Si) และธาตุอื่นๆ อีกเล็กน้อย

ข้อแตกต่างระหว่าง เหล็ก (iron) กับเหล็กกล้า (steel)

  • เหล็กกล้า ผลิตจาก เหล็ก ที่ผ่านการกำจัดคาร์บอนออกไปให้เหลืออยู่น้อยกว่า 2% (โดยน้ำหนัก) ทำให้มีความบริสุทธิ์ของเหล็กสูงกว่า 94% และมีธาตุอื่นประกอบอยู่เพียงเล็กน้อย
  • เหล็กกล้า มีความยืดหยุ่น คงทน สามารถดัดเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ดีกว่า และใช้งานได้หลากหลายกว่า เหล็ก เนื่องจากผ่านกรรมวิธีในการปรับปรุงคุณภาพในกระบวนการหลอมน้ำเหล็กแล้ว
  • เหล็ก มีความแข็งกว่า เหล็กกล้า แต่ เหล็ก มีความแข็งแรงน้อยกว่า เหล็กกล้า
  • การเปลี่ยนแปลงรูปร่างรูปทรงของ เหล็ก ทำได้โดยการตีขึ้นรูป หรือหลอมเหลวเป็นน้ำเหล็กแล้วเทลงในเบ้าหล่อหรือแม่พิมพ์ (เราเรียกวิธีนี้ว่า “การหล่อ”) เช่น การตีดาบ การหล่อแท่นเครื่องยนต์ ในขณะที่เราเปลี่ยนรูปร่างหรือรูปทรงของ เหล็กกล้า โดยการรีด (ด้วยเครื่องลูกกลิ้งที่เรียกว่า “แท่นรีด”) การพับ ม้วน เชื่อม กระแทก กด ขึ้นรูป ฯลฯ ซึ่งหลากหลายวิธีตามความต้องในการแปรรูป เช่น พับเป็นเหล็กฉาก ม้วนแล้วเชื่อมเป็นท่อ กดและขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น
  • เหล็กกล้า มีชั้นคุณภาพ (เกรด) หลายหลากมากมาย ตามมาตรฐานของแต่ละประเทศ และตามข้อกำหนดเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย ในขณะที่ เหล็ก มีจำนวนชั้นคุณภาพน้อยกว่ามาก หมายถึงการนำไปใช้งานที่มีจำกัดด้วย